วัดมโนภิรมย์

Written By Admin on วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 | วันพุธ, พฤษภาคม 13, 2558


วัดมโนภิรมย์

          วัดมโนภิรมย์ หรือ วัดบ้านชะโนด วัดเก่าแก่ริมแม่น้ำโขง ที่มีอายุกว่า 300 ปี ตั้งอยู่ที่บ้านชะโนด ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร สร้างขึ้นเมื่อขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย จ.ศ.1052 ตรงกับวันจันทร์ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2233  โดยมีท้าวคำสิงห์ และญาติที่ย้ายมาจากบ้านท่าสะโนประมาณ 30 ครอบครัวเป็นผู้สร้าง พร้อมกับการตั้งบ้านชะโนดและเมืองมุกดาหาร ณ ป่าชะโนด ใต้ปากห้วยชะโนด ครั้งแรกเรียกชื่อว่า วัดบ้านชะโนด ต่อมาเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “วัดมโนภิรมย์” 
          บ้านชะโนดและวัดมโนภิรมย์  สร้างขึ้นตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย คือรัชสมัยของกษัตริย์องค์ที่ 28 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งตามประวัติศาสตร์ถือว่า เป็นยุคทองของวรรณกรรม (สมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231) 
          แรกเริ่มสร้างวัดใหม่ๆๆ นั้นอยู่ในระยะที่ตั้งตัวใหม่ เสนาสนะคงมีแต่กุฏิ และศาลาโรงธรรมและรั้ววัดเท่านั้น วัดมโนภิรมย์มาเจริญเป็นปึกแผ่นมั่นคงเมื่อพ.ศ. 2269 ในขณะที่บ้านชะโนดมีจำนวนครัวเรือน
และประชากรเพิ่มมากขึ้น มีการส่งบุตรหลานเข้าบวชเรียนศึกษาพระธรรมวินัยมีนักปราชญ์ค้นหาคัมภีร์ตำราตลอดพระไตรปิฏกมาไว้ให้ภิกษุสามเณรได้ค้นคว้าศึกษา

          พ.ศ.2282 ท้าวเมืองโครกได้นำบุตรชายชื่อ "หอ" และหลานชายชื่อ "กัสสปะ" เข้าบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมโนภิรมย์ บวชเรียนปฏิบัติและศึกษาพระธรรมวินัย คัมภีร์และพระไตรปิฏก มีความรู้แตกฉานจนครบอายุ 20 ปี จึงอุปสมบท เป็นภิกษุอยู่ที่วัดเดิมต่อไปอีก 1 ปี บิดามารดา อุปัชฌาย์อาจารย์เห็นว่าพระภิกษุทั้งสองรูปเป็นผู้ประกอบด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีจริยวัตรและคุณธรรมที่สูงส่งและจะเป็นที่พึ่งสืบสกุลได้ จึงพร้อมใจกันส่งไปศึกษาต่อที่ี่นครเวียงจันทน์ปฏิบัติธรรมและศึกษาอยู่ 6 ปีพระภิกษุทั้งสองรูปก็สอบไล่ได้บาลีชั้นสูงสุดในสมัยนั้น และได้รับสมณศักดิ์พระอุปัชฌาย์ 1 รูป คือ ท่าน หอ เป็นพระครู 1 รูป คือ พระครูกัสสปะ 

          ท่านหอ และพระครูกัสสปะ ได้ศึกษาค้นคว้า และบำเพ็ญตนเป็นที่ปรากฏเลื่องลือจึงโปรดให้เข้าเฝ้าและกราบทูลเป็นที่พอพระราชหฤทัยครั้นภิกษุทั้งสองถวายพระพรลากลับจึงโปรดเกล้า พระราชทานวัสดุก่อสร้าง มีอิฐ ปูน เหล็ก แก้ว ทอง และสี พร้อมด้วยนายช่างสถาปัตยกรรมจากราชสำนัก 3 คน คือ โชติ , ขะ , โมข ลงแพ ล่องจากนครเวียงจันทน์มาสร้างโบสถ์ และพัทธสีมาวัดมโนภิรมย์ บ้านชะโนด

          โบสถ์วัดมโนภิรมย์ พร้อมด้วยพัทธสีมาสร้างขึ้นเมื่อวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเส็ง พุทธศักราช 2296 ผู้นำในการสร้างคือท่าน หอ พระครูกัสสปะ จารย์โชติ จารย์ขะ และจารย์โมข มีชาวบ้านชะโนดและบ้านท่าสะโนเป็นเจ้าภาพและแรงงานซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการย้ายบ้านออกไปการก่อสร้างโบสถ์ พัทธสีมา ส่วนประกอบ ลวดลาย รั้ววัด เสร็จเรียบร้อยภายใน3 ปี คือ พ.ศ. 2299

ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม

ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่ควรหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง คือแบบอย่าง เป็นแบบ เขมร ไทย ลาว ผสมผสานกัน แต่ทุกอย่างประณีตอ่อนช้อยงดงาม
1) โบสถ์ สถาปัตยกรรมล้านช้าง หลังชั้นเดียว หน้าจั่วแหลมชันและงอน ซุ้มประตูใหญ่หน้าบันแกะสลักลวดลายวิจิตรโดดเด่น หาดูได้ยาก เสาสลักลวดลายอ่อนช้อยรดด้วยลายนกทอง ภายในพระประธานเป็น
อิฐปูนแต่เด่นสง่า สมสัดส่วน ฐานลดหลั่นงดงาม รอบฐานมีรูปสิงห์หมอบ ตรงบันไดทุกช่องเป็นรูปจระเข้คู่ ตรงบันไดใหญ่หน้าบันเป็นคชสีห์คู่ขนาดเท่าม้า แสดงถึงความลึกซึ้งเก่าแก่
2) พัทธสีมา ศิลปะคล้ายๆ แบบขอ พระประธาน เป็นพระกัจจาย
3) รั้ววัดและซุ้มประตูวัด เป็นไม้เนื้อแข็ง กลึงเป็นรูปบัวตูมฝังเรียงกัน ซุ้มประตูทำเป็นเสาใหญ่เท่าต้นตาลแต่กลึงเป็นรูปบัวตูม มีรูปปั้นด้วยอิฐปูนเป็นยามเฝ้าประตูทุกช่อง น่าเกรงขามมากมีบันไดท่าน้ำ ทำเป็นบันไดอิฐปูนลดหลั่นลงตลิ่ง มีรูปหมาเป็นยามนั่งเฝ้า 1 คู่ ตัวโตขนาดเท่าเก้ง แต่สวยงามมาก
4) พระองค์ตื้อ เป็นพระทองสัมฤทธิ์ หล่อขึ้นในสมัยที่พระครูกัสสปะเป็นเจ้าอาวาสแทนท่านหอ แต่ไม่ทราบวัน เดือน ปี ที่แน่นอน
5) พระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ในเวลาใกล้เคียงกัน เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์และงดงามมาก
6) พระพุทธรูปปางห้ามญาติ สมัยศรีวิชัย
7) พระงา เป็นพระพุทธรูปงาช้างที่แกะสลักโดยพระอุปัชฌาย์บุนันทวโร พระเจ้า 8 พระองค์ 

 เหตุการณ์สำคัญ

เมื่อวันอังคาร แรม 8 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 28 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2447 บ้านชะโนดได้รับมหันตภัยจากอัคคีภัยครั้งใหญ่อันเป็นโศกนาฏกรรมและความทรงจำที่ไม่อาจลืมเลือนเกิดไฟไหม้ บ้าน
เรือน วัดวาอาราม วอดวายเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้ โดยเฉพาะวัดมโนภิรมย์ ซึ่งมีกุฏิ วิหาร พัทธสีมา ศาลาการเปรียญ ตู้พระไตรปิฏก พระพุทธรูป เรือแข่ง รั้ววัด ตลอดจน ฆ้อง กลอง ระฆัง ต้องกลายเป็น
เถ้าถ่านทั้งสิ้น

พ.ศ.2448 ท่านศรีสุราช และชาวบ้านได้ไปนิมนต์พระบุ นันทวโร จากบ้านท่าสะโนซึ่งเป็นบ้านเดิม มาเป็นผู้นำซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ ท่านได้นำชาวบ้านซ่อมแซมวัดมโนภิรมย์ อยู่ 6 ปี จึงสำเร็จเรียบร้อยทุกอย่าง คือ กุฏิ วิหาร พัทธสีม ศาลา รั้ววัด แม้กระทั่งเรือแข่ง ทุกอย่างที่ซ่อมแซมท่านเป็นผู้ที่ซึ้งในศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมมาก เนื่องจาก ท่านเคยมาศึกษาและปฏิบัติอยู่ก่อนแล้วในประการหนึ่ง ประกอบกับท่านมีความพากเพียรพยายามเป็นที่ตั้ง การปฏิสังขรณ์จึงสำเร็จลุล่วงลงด้วยดี และคงไว้ซึ่งศิลปะดั้งเดิม แม้กระนั้นบางสิ่งบางศิลปะมิอาจจะกลับฟื้นคืนมาดังเดิมได้ คงเป็นรอยจารึก และภาพแห่งความอาลัย
ในศิลปะดั้งเดิมเมื่อพบเห็น

SHARE

About Admin

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น